สมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงธนบุรี


สมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงธนบุรี

หลังจากขอมเสื่อมอำนาจและหมดอิทธิพลจากดินแดนแถบนี้แล้ว ก็ไม่ปรากฏหลักฐานอะไรหลงเหลืออีกเลย เข้าใจว่าอำนาจของกรุงศรีอยุธยาอาจแผ่ไปไม่ถึงดินแดนแถบนี้ สังเกตได้จากศิลปและวัฒนธรรมของอยุธยาไม่ปรากฏให้เห็นเลย มีปรากฏให้เห็นเฉพาะอิทธิพลของขอม และอาณาจักรลานช้างเท่านั้น
ในหนังสือประวัติศาสตร์อีสาน กล่าวว่า ภายหลังรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ไปแล้ว อิทธิพลของวัฒนธรรมขอมก็ค่อยๆ เสื่อมลงในภาคอีสานไม่ค่อยปรากฏการสร้างปราสาทหินขึ้นมาแต่อย่างใด เมื่อตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก็สลายตัว อันเนื่องมาจากการแพร่หลายของพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์บรรดาปราสาทหินและศาสนสถานแต่เดิมหลายแห่งถูกเปลี่ยนให้เป็นวัดหรือพุทธสถานแทน
จากข้อความดังกล่าวข้างต้นได้สอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏในประวัติตำนานพงศาวดารเมืองสกลนครของพระยาประจันตะประเทศธานี (โง่นคำ) ที่กล่าวไว้ว่า เมื่อสิ้นพระชนม์พระยาสุวรรณภิงคารแล้ว เสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ชาวเขมรก็สมมุติกันเป็นเจ้าเมืองต่อมา เมื่อปีหนึ่งเกิดทุกขภัยคือ ฝนแล้ง ราษฎรไม่ได้ทำนาถึง ๗ ปี เกิดความอัตคัดขัดสนข้าวปลาอาหารเป็นอันมาก เจ้าเมือง กรมการ และราษฎรชาวเขมรที่อยู่ในเมืองหนองหานหลวงก็ทิ้งเมืองให้เป็นเมืองร้าง แต่จะร้างมาได้กี่ปีไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ที่ดินว่างเปล่าหลงเหลืออยู่รอบบริเวณพระธาตุ
ภายหลังขอมเสื่อมอำนาจลง บริเวณดินแดนลุ่มน้ำโขงของภาคอีสานในยุคนั้นกลับรุ่งเรืองขึ้น อันเนื่องมาจากการเจริญขึ้นของอาณาจักรลานช้างซึ่งเกิดขึ้นแทนที่อาณาจักรโคตรบูรณ์ หลักฐานที่ปรากฏว่าอาณาจักรลานช้างได้รุ่งเรืองถึงดินแดนแถบนี้ คือ พระธาตุก่องข้าวน้อย ที่บ้านตาดทอง จังหวัดยโสธร พระธาตุบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น และในสมัยต่อมาอิทธิพลของอาณาจักรลานช้างก็รุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้
หลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่า ดินแดนในบริเวณจังหวัดสกลนครในสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อเนื่องกับสมัยกรุงธนบุรีได้รับอิทธิพลของอาณาจักรลานช้างอีกประการหนึ่ง คือ ในสมัยนั้นชาวภูไท และชาวโซ่ (ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของจังหวัดสกลนคร) ได้อพยพเคลื่อนย้ายมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง การอพยพดังกล่าวเกิดขึ้นหลายรุ่น จึงทำให้ชาวภูไทและชาวโซ่อยู่กระจัดกระจายบริเวณพื้นที่ในจังหวัดนครพนมและจังหวัดสกลนคร และต่อมาก็ได้เจริญรุ่งเรืองกลายเป็น เมืองพรรณานิคม และเมืองกุสุมาลย์ ซึ่งในปัจจุบันอำเภอพรรณานิคมจะปรากฏชาวภูไทยอยู่อาศัยเป็นส่วนมาก ในขณะที่อำเภอกุสุมาลย์ในปัจจุบันก็มีชาวโซ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน
ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาและธนบุรีเป็นเมืองหลวงของไทยนั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดสกลนครโดยตรงไม่ปรากฏเรื่องราวไว้แต่อย่างใด เข้าใจว่าในสมัยอยุธยาเป็นราชธานี จังหวัดสกลนครคงเป็นชุมชนเล็กๆ ที่แทบจะไม่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เลย และคงได้รับอิทธิพลของอาณาจักรลานช้างมากกว่าอาณาจักรอยุธยาดังกล่าวแล้ว ในสมัยกรุงธนบุรีก็ไม่ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดสกลนครอยู่เลย เพียงปรากฏในพงศาวดารบางฉบับที่กล่าวถึงสงครามระหว่างกรุงธนบุรีกับอาณาจักรลานช้าง ที่กล่าวพาดพิงถึงจังหวัดนครพนมบ้างเท่านั้น เข้าใจว่าจังหวัดสกลนครในสมัยนั้นคงขึ้นอยู่กับอาณาจักรลานช้างบ้าง เป็นเมืองขึ้นของไทยบ้าง แล้วแต่ฝ่ายใดจะมีอำนาจมากกว่ากัน
แต่ได้ปรากฏหลักฐานแน่ชัดอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น